เป็นอัจฉริยะวิทยาศาสตร์แล้วยิ่งมีความสุขจริงหรือ? เรียนหนักแล้วเครียดน้อยลงจริงไหม?
ถ้าลองให้จินตนาการดูว่า อัจฉริยะวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร หลายคนจะนึกถึงเด็กที่นั่งอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์อยู่ในห้องมากกว่าจะไปสุงสิงกับเพื่อน ๆ หรือนักเรียนที่จดจ่ออยู่กับการทดลอง เมื่อ 10 ปีก่อน มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกพูดถึงจนเป็นข่าวโด่งดัง เด็กผู้ชายคนนี้ชื่อว่า ‘ซงยูกึน’ เขาเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์และเฉลียวฉลาด ด้วยความฉลาดหลักแหลมของเขานี่เองที่ทำให้ใคร ๆ พากันคิดไปว่าเขาจะเข้ากับเด็กในวัยเดียวกันยาก และเป็นเด็กที่เก็บตัวเงียบอยู่คนเดียว (แต่ความจริงกลับไม่ใช่ เขาเติบโตขึ้นมาอย่างเด็กหนุ่มที่มีชีวิตสวยงาม และไม่มีอาการของคนเหงาหรือว้าเหว่แม้แต่น้อย) ถ้าลองอ่านวารสารวิชาการต่าง ๆ ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับลักษณะการเรียนรู้และอารมณ์ความรู้สึกของอัจฉริยะวิทยาศาสตร์ จะพบว่า ความจริงต่างจากที่หลายคนคิด
ประการแรก บางคนคิดว่าเด็กที่มีความสามารถพิเศษหรืออัจฉริยะจะต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อยู่คนเดียวตามลำพังมากกว่าจะเรียนร่วมกับนักเรียนทั่วไป แต่ถ้าลองอ่านวิทยานิพนธ์ของนักวิจัยสองท่าน คือ คุณคิมโฮซังและคุณยูมิฮยอนที่ตีพิมพ์ลงในวารสารการศึกษาของอัจฉริยะวิทยาศาสตร์เมื่อปี 2015 จะทราบได้ว่า ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น จากข้อมูลตามที่ทำการสำรวจตามสถานศึกษา โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนทั่วไปกับนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ (Institute of Science education for gifted students) ซึ่งเป็นสถาบันที่ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะคัดสรรเฉพาะเด็กที่มีความสามารถพิเศษเข้ามาเรียน พบว่า ทั้งสองกลุ่มต่างมีนักเรียนที่ต้องการไปเรียนเสริมจากข้างนอกมากถึง 90 % และจุดที่น่าจับตามอง คือ สาเหตุของการเลือกไปเรียนเสริมนอกเหนือจากในโรงเรียน สาเหตุที่นักเรียนอัจฉริยะวิทยาศาสตร์ไปเรียนเสริม เพราะต้องการเรียนให้มากกว่าเรียนในโรงเรียน ส่วนสาเหตุที่นักเรียนทั่วไปไปเรียนเสริม เพราะอยากให้คะแนนสอบที่โรงเรียนเพิ่มสูงขึ้น ในฐานะนักเรียนที่เป็นอัจฉริยะวิทยาศาสตร์ที่แทบไม่จำเป็นต้องไปเรียนเพิ่มเติมเลยก็ยังเลือกไปเรียน นั่นเป็นเพราะพวกเขาสนุกไปกับการเรียนรู้และปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรู้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ความสามารถทางวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนอัจฉริยะวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับสูงเช่นกัน ซึ่งตามหลังวิชาวิทยาศาสตร์มาติด ๆ กล่าวคือ วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ควรเรียนรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากในโรงเรียน แต่ถ้าเป็นนักเรียนทั่วไปส่วนใหญ่แล้วจะเก่งภาษาอังกฤษ ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ปกครองส่งเสริมและเลือกให้เด็กเรียน และวิชาถัดมาที่พวกเขาถนัดคือวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นผลพวงจากวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาสำคัญที่ต้องใช้ในการสอบเข้าเรียนต่อ
นอกจากนี้ เพราะนักเรียนอัจฉริยะวิทยาศาสตร์มีการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองอยู่เสมอ จึงมีความแตกต่างของเรื่องเวลาอย่างเห็นได้ชัด จากแบบสอบถามนักเรียนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เลือกเวลาที่จะใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเองมากที่สุดอยู่ที่ 4 ชั่วโมง แต่กรณีของนักเรียนทั่วไปจะอยู่ที่ 2 – 3 ชั่วโมง นักเรียนอัจฉริยะวิทยาศาสตร์ต้องการจะเรียนรู้สิ่งที่ตนเองสนใจอย่างลึกซึ้ง และเพลิดเพลินไปกับสิ่งนั้น และพวกเขาสามารถจดจ่ออยู่กับการอ่านหนังสือได้เป็นเวลานาน
นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษหรืออัจฉริยะมุ่งมั่นอยู่กับการเรียนรู้ แต่ทำไมพวกเขาถึงไม่เครียด จากข้อมูลที่ได้มีการวิจัยมา พบว่า เด็ก ๆ ที่มีความสามารถพิเศษเหล่านี้ มีภาวะทางอารมณ์ที่ดีกว่านักเรียนทั่วไป และมีความสุขมากกว่า
ทั้งนี้เพราะนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษรู้ดีว่าพวกเขามีความสามารถสูงกว่านักเรียนปกติ ความมั่นใจนี้ทำให้พวกเขาประเมินตนเองในเชิงบวก ดังนั้น ดัชนีความเครียดจึงต่ำ และภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้น้อยกว่านักเรียนทั่วไป และความสามารถในการเข้าสังคมของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษไม่ได้ต่ำอย่างที่หลายคนคิด ทั้งนี้ความอคติพาลทำให้หลายคนคิดว่านักเรียนเหล่านี้ต้องอ่อนด้อยในการเข้าสังคม
อีกอย่างที่นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเหนือกว่านักเรียนปกติ คือ คุณสมบัติของการเป็นผู้นำ ทั้งนี้จากการวิจัยภาวะความเป็นผู้นำของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษกับนักเรียนปกติในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีการจัดพิมพ์ข้อมูลลงในวารสารการศึกษาของอัจฉริยะวิทยาศาสตร์ปี 2012 (ผู้ที่ทำการวิจัย คือ คุณอียองฮันและคุณยูมิฮยอน) พบว่า นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเหนือกว่านักเรียนปกติทั่วไปในหลาย ๆ ด้าน มีวิสัยทัศน์และความมั่นใจ มีความสามารถในการตัดสินใจและมีความรับผิดชอบ ทีนี้คงทราบกันแล้วว่านักเรียนที่มีความสามารถพิเศษมีคุณสมบัติใดโดดเด่นบ้าง เหมือนหรือแตกต่างจากนักเรียนทั่วไปอย่างไร แต่แน่นอนว่านักเรียนเหล่านี้มีความสามารถในการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมเหนือกว่าหลักสูตรปกติ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่สามารถใช้ชีวิตในโรงเรียนปกติได้ มีผู้ปกครองบางท่านเป็นกังวลกลัวว่าลูกของตนจะเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษแล้วจะขาดการเข้าสังคมและขาดความเป็นผู้นำถึงขั้นภาวนาอย่าให้ลูกเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ผู้เขียนหวังว่ามุมมองของทุกคนเกี่ยวกับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษจะเปลี่ยนไปหลังจากที่ได้อ่านบทความนี้
Note : ประเทศเกาหลีใต้มีโรงเรียนรองรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเหล่านี้อยู่แล้ว พวกเขาสามารถเข้าเรียนและเรียนไปพร้อมกับเพื่อน ๆ และมีสังคมการใช้ชีวิตที่เหมือนการเรียนในโรงเรียนทั่วไป
แหล่งที่มาของข้อมูล : http://askhow.co.kr/?c=fpage_boards_site&tname=boards_site2&pname=p3_002&token=eeab89aa6c1aa9980c3657cba18acf4c&ind=2